ดวงจีน เจี่ยโหงวเฮ้ง: 5 ธาตุ
ในสมัยโบราณ ชาวจีนเชื่อว่า นอกจากจักรวาลที่เราอาศัยอยู่แล้ว ยังมีจักรวาลอื่นอีก 4 จักรวาลที่เชื่อมโยงกัน โดยรายล้อมอยู่โดยรอบทุกทิศทางทั้งทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก และ ทิศตะวันตก ทิศละ 1 จักรวาล โดยมีจักรวาลของเราอยู่ตรงกลางตั้งอยู่เป็นประธาน ซึ่งก็หมายความว่า มีทั้งหมด 5 จักรวาล แต่ละจักรวาลที่อยู่โดยรอบนั้น ยังมีธาตุประจำจักรวาล โดยใช้หลักการของผังเหอถู (ผังก่อนฟ้า) คือ จักรวาลทางทิศเหนือ เป็น ธาตุน้ำ
จักรวาลทางทิศใต้ เป็น ธาตุไฟ จักรวาลทางทิศตะวันออก เป็น ธาตุไม้
จักรวาลทางทิศตะวันตก เป็น ธาตุทอง
จักรวาลประธานตรงกลาง เป็น ธาตุดิน เป็นศูนย์กลาง
ปฏิกิริยาของธาตุทั้ง 5 (เบญจธาตุ)
ชาวจีนเชื่อว่า ทุกสรรพสิ่งเกิดขึ้นมาโดยอาศัยธาตุทั้ง 5 ซึ่งมีปฏิกิริยาก่อกำเนิด และ พิฆาต เป็นวัฏจักรที่ไม่สิ้นสุด ธาตุทั้ง 5 ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุทอง ธาตุน้ำ ธาตุไม้ และ ธาตุไฟ
วงจรการก่อเกิด
ภายใต้แนวคิดของหลักการทางธรรมชาติ อาจกล่าวได้ว่า โลกของเราตั้งแต่ในยุคดึกดำบรรพ์เป็นต้นมา การก่อเกิดของสรรพสิ่งล้วนมีต้นกำเนิดจาก ธาตุน้ำ และ ธาตุดิน ด้วยเหตุนี้ วงจรการก่อเกิดจึงต้องเริ่มต้นจากธาตุใดธาตุหนึ่ง 2 ธาตุนี้ ในที่นี้จะเริ่มต้นจากธาตุดิน
จากภาพจะพบว่า
...
ธาตุดิน (โท่ว)
ธาตุดิน เป็นแหล่งที่มาของการเกิดแร่ธาตุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโลหะหรืออโลหะ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ แร่ธาตุที่เป็นทรัพยากรต่างๆ ได้เกิดขึ้นมาจากธาตุดิน ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้เกิดหลักการที่ว่า ธาตุดิน ให้กำเนิด ธาตุทอง
ธาตุทอง (กิม)
ธาตุทอง เป็นแร่ธาตุที่ได้มาจากจากดิน เมื่อจะนำไปพัฒนา หรือ ประดิษฐ์เป็นสิ่งต่างๆ ก็ย่อมต้องมีการปรับแต่ง และ การปรับแต่งนี้เองที่ทำให้ธาตุทองต้องมีส่วนหนึ่งสูญเสียออกไป ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปควัน ไอน้ำ หรือ หลอมละลายเป็นของเหลว ซึ่งก็คือ ธาตุน้ำ ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้เกิดหลักการที่ว่า ธาตุทอง ให้กำเนิด ธาตุน้ำ
...
ธาตุน้ำ (จุ้ย)
ธาตุน้ำ เป็นธาตุที่ให้กำเนิดสรรพสิ่งหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ แต่ภายใต้หลักการของการก่อเกิด น้ำจึงเป็นแหล่งที่ทำให้พืชมีการเจริญเติบโต ถ้าหากพืชพันธุ์ขาดน้ำแล้ว ก็จะทำให้โลกไม่มีพืชหรือต้นไม้ ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้เกิดหลักการที่ว่า ธาตุน้ำ ให้กำเนิด ธาตุไม้
ธาตุไม้ (บั๊ก)
ธาตุไม้ เป็นสิ่งสำคัญต่อการดำเนินชีวิต เพราะ แหล่งความร้อนที่นำมาเพื่อจะทำให้เกิดความอบอุ่น การประดิษฐ์สิ่งต่างๆ หรือ การปรุงอาหาร ในสมัยโบราณมักได้มาจากการนำไม้มาทำเป็นฟืน เพื่อก่อให้เกิดไฟ ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้เกิดหลักการที่ว่า ธาตุไม้ ให้กำเนิด ธาตุไฟ
ธาตุไฟ (ฮ่วย)
ธาตุไฟ เป็นธาตุที่มีคุณประโยชน์มากมาย แต่การเผาผลาญสิ่งต่างๆ ก็ทำให้สรรพสิ่งเหล่านั้นถูกทำลาย ย่อยสลาย ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปแบบของเถ้าถ่าน และ ผงฝุ่น โดยสิ่งเหล่านั้นก็คือสิ่งที่กลับลงไปสู่ดินอีกครั้ง ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้เกิดหลักการที่ว่า ธาตุไฟ ให้กำเนิด ธาตุดิน
... วงจรการพิฆาต
จากภาพจะพบว่า
ธาตุดิน (โท่ว)
ธาตุดิน ชนะหรือได้เปรียบ ธาตุน้ำ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า ธาตุดินที่หนักแน่นกว่าธาตุน้ำ จะสังเกตเห็นว่า การกักเก็บน้ำตามธรรมชาติ อย่างเช่น เขื่อนตามธรรมชาติ ก็มักจะเป็นเขื่อนดิน หรือในอีกมุมหนึ่ง หากนำดินไปใส่ในน้ำที่ใสสะอาด เกิดความขุ่น ตะกอน และ ไม่สะอาด หรือแม้กระทั่ง หากน้ำรด หรือ เทลงไปบนพื้นดิน น้ำก็มักจะถูกดินดูดจนแห้งหายไปในทันที ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้เกิดหลักการที่ว่า ธาตุดิน พิฆาต ธาตุน้ำ
ธาตุทอง (กิม)
ธาตุทอง ชนะหรือได้เปรียบ ธาตุไม้ เพราะ ธาตุทองมีความแข็งแกร่ง ธาตุทองอาจจะเป็นของแข็งที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเป็นอาวุธของมีคม เป็นมีด/ขวาน เมื่อเรานำมีด/ขวาน ไปต้นไม้ ก็จะทำให้ต้นไม้เกิดแผล หรือ เกิดการหักลง ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้เกิดหลักการที่ว่า ธาตุทอง พิฆาต ธาตุไม้
ธาตุน้ำ (จุ้ย)
ธาตุน้ำ ชนะหรือได้เปรียบ ธาตุไฟ คงจะเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า น้ำย่อมสามารถดับไฟ และ ทำให้ไฟมอดหรือดับ ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้เกิดหลักการที่ว่า ธาตุน้ำ พิฆาต ธาตุไฟ
ธาตุไม้ (บั๊ก)
ธาตุไม้ ชนะหรือได้เปรียบ ธาตุดิน ตามหลักการของธรรมชาติ ต้นไม้เติบโตด้วยน้ำแต่ก็คงจะไม่ทั้งหมด หากจะกล่าวไปแล้ว ก็เพราะว่า ต้นไม้มีรากแก้ว และ รากฝอยที่ฝังตัวอยู่ในดิน ซึ่งจะคอยดูดแร่ธาตุต่างๆ ที่มีอยู่ในพื้นดินมาหล่อเลี้ยงต้นไม้ได้มีความแข็งแกร่งและเติบโต หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ธาตุดินสูญเสียแร่ธาตุที่มีอยู่ให้กับต้นไม้ ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้เกิดหลักการที่ว่า ธาตุไม้ พิฆาต ธาตุดิน
ธาตุไฟ (ฮ่วย)
ธาตุไฟ ชนะหรือได้เปรียบ ธาตุทอง ตามหลักการของธรรมชาติ ไฟสามารถเผาผลาญทุกสรรพสิ่งให้เป็นเถ้าถ่าน หรือ แปรเปลี่ยนคุณลักษณะ ดังนั้น ไม่ว่าทอง หรือ โลหะที่มีความแข็งแกร่งขนาดไหนก็ตาม เมื่อเจอไฟก็ต้องมีการหลอมละลาย ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้เกิดหลักการที่ว่า ธาตุไฟ พิฆาต ธาตุทอง
อ่านพื้นฐานวิชาดวงจีนเจี่ยโหงวเฮ้งทั้งหมด >>> คลิ๊กที่นี่ |